อย่าต่อท่อระบายอากาศตู้เก็บสารเคมีไวไฟ ( ถ้าไม่จำเป็น )

รู้หรือไม่ ว่าเราไม่ควรต่อท่อระบายอากาศตู้เก็บสารเคมีไวไฟ ( ถ้าไม่จำเป็น )

ตาม NFPA 30 Flammable and Combustible Liquids Code Handbook ระบุว่า ตู้เก็บสารเคมีไม่จำเป็นจะต้องมีการระบายอากาศ เพื่อให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะจากการเกิดไฟไหม้ ตัวตู้เก็บสารไวไฟหรือสารที่ติดไฟได้ง่าย ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อป้องกันสิ่งของที่อยู่ในตู้จากเปลวไฟด้านนอก การต่อท่อระบายอากาศจะทำให้ความทนต่อความร้อนจากภายนอกสูญเสียไปได้  ดังนั้น NFPA 30 จึงไม่แนะนำให้มีการต่อท่อระบายอากาศจากตู้เก็บสารเคมี

         หากจะมีการต่อท่อไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย จะต้องทำโดยไม่ทำให้สมบัติการป้องกันไฟของตัวตู้สูญเสียไปด้วย เช่น มีการติดตั้ง Damperที่ไวต่อความร้อนสำหรับป้องกันไฟ หรือมีการทำฉนวนหุ้มระบบท่อเพื่อไม่ให้อุณหภูมิในตู้สูงเกินที่ระบุไว้ได้ ถ้ามีการระบายอากาศควรดูดออกจากด้านล่างของตู้และมีการดึงอากาศเข้าจากด้านบน  และควรเป็นการดูดด้วยพัดลมซึ่งชนิดและการติดตั้งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ NFPAการต่อท่อรวมกันหลายๆ ตู้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

         ถ้าสารเคมีที่เก็บอยู่ในตู้มีไอระเหยออกมามาก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการต่อท่อ  ก่อนที่จะต่อท่อควรพิจารณาทำสิ่งต่อไปนี้ก่อน

  1. วางตู้ในสถานที่แห้งและเย็น ไม่โดนแสงแดดโดยตรง ห่างจากจุดติดไฟ  เพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้มีไอพิษเกิดขึ้นได้
  2. ต้องมีการระบายอากาศในห้องอย่างเพียงพอตลอดเวลา อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น เนื่องมาจากระบบระบายอากาศถูกปิดตอนช่วงวันหยุดเป็นเวลานานๆ
  3. จัดทำระบบตรวจสอบสารเคมีทั้งหมด  รวมไปถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างสารที่เข้ากันไม่ได้  อย่าเก็บสารเคมีโดยเรียงตามตัวอักษรอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายขึ้นได้
  4. เก็บสารเคมีในภาชนะที่ทนต่อสารนั้นๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดการรั่วหรือเกิดความเสียหายขึ้นได้  ตรวจสอบกับ MSDSหรือบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอคำแนะนำ  ต้องมีการตรวจสอบสภาพภาชนะอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาร่องรอยความเสียหายหรือการเสื่อมอายุ
  5. ปิดฝาให้แน่น และตรวจสอบว่าไม่มีสารหกเลอะบริเวณภายนอกของภาชนะ
  6. ตรวจสอบภายในตู้เป็นประจำ อย่าให้มีสารหกเหลืออยู่ และต้องทำความสะอาดทันทีที่พบ
  7. ตรวจสอบภายในตู้ และส่วนต่างๆ ที่เป็นโลหะโดยรอบเป็นประจำ มองหาการเกิดสนิม การสึกกร่อน หรือสิ่งที่แสดงว่า มีระดับไอของสารมากเกินไป และจำเป็นต้องใช้มอเตอร์ในการระบายอากาศ
  8. กำจัดสารเคมีที่หมดอายุ และอาจเกิดสารที่ไม่เสถียรขึ้นได้
  9. ใช้ตัวดูดไอสารเคมีในตู้ เพื่อลดปริมาณไอที่ระคายเคืองลง

หมายเหตุ รูปที่แสดงจะไม่มีท่อระบายอากาศ ตู้เก็บสารเคมีไวไฟใช้สีเหลือง ส่วนตู้เก็บสารเคมีกัดกร่อนใช้สีฟ้า

ขอขอบคุณ Dr. Prapaipit C. Ternai ( Laboratory Safety Design and Consultant ) ที่อนุญาตให้นำเนื้อหาส่วนหนึ่งของวารสาร The Lab มาเผยแพร่