อย่าต่อท่อระบายอากาศตู้เก็บสารเคมีไวไฟ ( ถ้าไม่จำเป็น )
รู้หรือไม่ ว่าเราไม่ควรต่อท่อระบายอากาศตู้เก็บสารเคมีไวไฟ ( ถ้าไม่จำเป็น )
ตาม NFPA 30 Flammable and Combustible Liquids Code Handbook ระบุว่า ตู้เก็บสารเคมีไม่จำเป็นจะต้องมีการระบายอากาศ เพื่อให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะจากการเกิดไฟไหม้ ตัวตู้เก็บสารไวไฟหรือสารที่ติดไฟได้ง่าย ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อป้องกันสิ่งของที่อยู่ในตู้จากเปลวไฟด้านนอก การต่อท่อระบายอากาศจะทำให้ความทนต่อความร้อนจากภายนอกสูญเสียไปได้ ดังนั้น NFPA 30 จึงไม่แนะนำให้มีการต่อท่อระบายอากาศจากตู้เก็บสารเคมี
หากจะมีการต่อท่อไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย จะต้องทำโดยไม่ทำให้สมบัติการป้องกันไฟของตัวตู้สูญเสียไปด้วย เช่น มีการติดตั้ง Damperที่ไวต่อความร้อนสำหรับป้องกันไฟ หรือมีการทำฉนวนหุ้มระบบท่อเพื่อไม่ให้อุณหภูมิในตู้สูงเกินที่ระบุไว้ได้ ถ้ามีการระบายอากาศควรดูดออกจากด้านล่างของตู้และมีการดึงอากาศเข้าจากด้านบน และควรเป็นการดูดด้วยพัดลมซึ่งชนิดและการติดตั้งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ NFPAการต่อท่อรวมกันหลายๆ ตู้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
ถ้าสารเคมีที่เก็บอยู่ในตู้มีไอระเหยออกมามาก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการต่อท่อ ก่อนที่จะต่อท่อควรพิจารณาทำสิ่งต่อไปนี้ก่อน
- วางตู้ในสถานที่แห้งและเย็น ไม่โดนแสงแดดโดยตรง ห่างจากจุดติดไฟ เพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้มีไอพิษเกิดขึ้นได้
- ต้องมีการระบายอากาศในห้องอย่างเพียงพอตลอดเวลา อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น เนื่องมาจากระบบระบายอากาศถูกปิดตอนช่วงวันหยุดเป็นเวลานานๆ
- จัดทำระบบตรวจสอบสารเคมีทั้งหมด รวมไปถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างสารที่เข้ากันไม่ได้ อย่าเก็บสารเคมีโดยเรียงตามตัวอักษรอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายขึ้นได้
- เก็บสารเคมีในภาชนะที่ทนต่อสารนั้นๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดการรั่วหรือเกิดความเสียหายขึ้นได้ ตรวจสอบกับ MSDSหรือบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอคำแนะนำ ต้องมีการตรวจสอบสภาพภาชนะอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาร่องรอยความเสียหายหรือการเสื่อมอายุ
- ปิดฝาให้แน่น และตรวจสอบว่าไม่มีสารหกเลอะบริเวณภายนอกของภาชนะ
- ตรวจสอบภายในตู้เป็นประจำ อย่าให้มีสารหกเหลืออยู่ และต้องทำความสะอาดทันทีที่พบ
- ตรวจสอบภายในตู้ และส่วนต่างๆ ที่เป็นโลหะโดยรอบเป็นประจำ มองหาการเกิดสนิม การสึกกร่อน หรือสิ่งที่แสดงว่า มีระดับไอของสารมากเกินไป และจำเป็นต้องใช้มอเตอร์ในการระบายอากาศ
- กำจัดสารเคมีที่หมดอายุ และอาจเกิดสารที่ไม่เสถียรขึ้นได้
- ใช้ตัวดูดไอสารเคมีในตู้ เพื่อลดปริมาณไอที่ระคายเคืองลง
หมายเหตุ รูปที่แสดงจะไม่มีท่อระบายอากาศ ตู้เก็บสารเคมีไวไฟใช้สีเหลือง ส่วนตู้เก็บสารเคมีกัดกร่อนใช้สีฟ้า
ขอขอบคุณ Dr. Prapaipit C. Ternai ( Laboratory Safety Design and Consultant ) ที่อนุญาตให้นำเนื้อหาส่วนหนึ่งของวารสาร The Lab มาเผยแพร่